แฮนด์ส ออน เชียงใหม่ – จัดกระเป๋าไปเรียนต่อ (1)
ทีนี้ถึงเวลาเดินทางจริงแล้ว ในส่วนนี้เป็นความเห็นและแนวคิดของผมเองครับ จากประสบการณ์ อาจจะเหมือนหรือไม่เหมือนกับใครหลาย ๆ คนครับ ลองอ่านดูเผื่อว่าจะปรับใช้ได้ครับ ร่าง ๆ ดูแล้ว คงจะหลายตอนจบนะครับ
กระเป๋า
หลัก ๆ แล้วคงมี 2 แบบ คือ แบบแข็ง กับแบบที่เป็นผ้า พบว่าเป็นที่นิยมทั้งสองแบบ แล้วแต่ว่าชอบแบบไหน คนที่ชอบแบบที่เป็นเปลือกแข็ง ก็ชอบเพราะว่ามันแข็งแรง กันน้ำได้ 100 เปอร์เซ็นต์ สะอาด (เพราะไม่เก็บสิ่งสกปรก และไม่ซึม) คนที่ชอบกระเป๋าที่เป็นผ้า ก็ชอบเพราะว่ามันเบากว่า ยืดหยุ่นกว่า ไม่แตก ซ่อมได้ และโดยเฉลี่ย ถูกกว่า
บ้างคนอยากเอาไปเป็นเป้เดินทาง (แบ็คแพ็ค) แบบฝรั่งมาเที่ยวเมืองไทย อย่างนั้นก็ได้ครับ แต่ต้องเข้าใจเรื่อง ข้อจำกัดของมัน เรื่องพื้นที่ใช้สอย และควรหาถุงคลุมหรือปลอกให้มันด้วย เพราะสายการบินต้องการให้มีเพื่อเวลาที่โหลด จะได้แน่ใจว่า สายกระเป๋าไม่เข้าไปติดสายพานขนกระเป๋า
น้ำหนักและขนาดของกระเป๋า อาจเป็นประเด็นที่เราต้องคิดถึงครับ ออกตัวไว้ก่อนว่า พี่ไม่ได้เป็นตัวแทนสายการบิน (เป็นตัวแทนน้อง ๆ กับ เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัย) จึงบอกไม่ได้อย่างแม่นยำว่า สายการบินไหนให้น้ำหนักเท่าไหร่ครับ อีกเหตุผลคือ มีความเปลี่ยนแปลงขึ้นคงเป็นโปรโมชั่นอยู่ตลอด คนที่ทำตั๋วให้ (ทิคเก็ต เอเจนท์) หรือ สายการบิน (ทั้งคอลล์เซ็นเตอร์ และ เว็บไซต์)น่าจะเป็นคนที่บอกได้อย่างถูกต้องครับ ประเด็นมันอยู่ที่ว่า ตามระเบียบสากลของพนักงานสายการบินและสนามบิน ของ 1 ชิ้น ที่หนักตั้งแต่ 23 กิโลกรัม (ประมาณ 50 ปอนด์) จะต้องติดป้ายว่า เป็นของหนัก (Heavy Item) ถ้าหนักกว่า 32 กิโลกรัม (ประมาณ 70 ปอนด์) สนามบินและสายการบินจะไม่รับโหลดในฐานะของกระเป๋าครับ ทั้งนี้เพราะว่า กระเป๋าโดยมากใช้แรงงานคนยกขึ้นและลงจากสายพาน และ จัดเข้าตู้เก็บครับ
กลับมาที่เรื่องของเรา ดังนั้น ถ้ากระเป๋าเราใหญ่และหนักมากก็อาจมีปัญหาตอนโหลดครับ เราอาจเลือกกระเป๋าที่เล็กลง แต่เป็น 2 ใบก็ได้ครับ อาจเป็นใหญ่กับเล็ก หรือ กลาง 2 ใบก็ได้ครับ อย่างไรก็คงต้องเช็คกับทางสายการบินก่อนครับ ว่า รับได้อย่างไร ถ้าใช้เอเจนท์ทำตั๋วให้ เขาต้องบอกได้
ท้ายที่สุด เราต้องไม่ลืมว่า เราเดินทางครั้งนี้คนเดียว ถึงไปกับเพื่อน ทุกคนก็มีของมากเหมือนกัน จะไปตายเอาดาบหน้าหรือหวังเอาเองว่าจะมีคนมาช่วย ได้โปรด “อย่า” ครับ เราต้องวางแผนไปโดยให้แน่ใจว่าเราสามารถยกย้าย และดูแลกระเป๋าได้ เมื่อไปถึงเราอาจต้องขึ้นรถไฟ รถโค้ช และ รถแท็กซี่ ถ้าของหนักมาจนเราไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้เอง ก็จะลำบากมาก และอาจต้องเสียเงิน บางครั้งก็เสียเงินมากจนรู้สึกว่า เอาเงินไปซื้อของที่เอามาที่อังกฤษได้โดยที่ไม่ต้องแบกเอามา
ส่วนกระเป๋าที่ถือขึ้นเครื่อง (Hand/Cabin Luggage) ก็ควรตรวจสอบขนาดกับสายการบินสักหน่อยครับ หรือเช็คดูเอาตามเว็บทางการของสายการบินก็ได้ครับ นอกจากนี้ ผู้ผลิตกระเป๋าที่มีมาตรฐานโดยมากจะโฆษณาอยู่แล้วว่ากระเป๋าขนาดไหนของเขาที่เป็นกระเป๋าที่ถือขึ้นเครื่อง (Hand/Cabin Luggage) ได้ครับ
ของที่ควรถือขึ้นเครื่องไปด้วยก็มีประมาณนี้ครับ
- เอกสารทั้งหมดที่สถานทูตคืนมาหลังจากสมัครวีซ่า คือ หนังสือเดินทางพร้อมวีซ่าที่วันเริ่มถูกต้อง CAS, IELTS, Transcript, Certificate, IOM Certificate จดหมายรับรองบัญชี/เอกสารการเงินที่ใช้ขอวีซ่า และ รายละเอียดที่อยู่ที่เราอาจจะเตรียมไว้ไปรับ BRP (ไหน ๆ ก็มีเกือบครบแล้ว เอาจดหมายรับรองจากอาจารย์ที่ได้มาไว้ด้วยกันเลย)
- ยาประจำตัว เอาที่จำเป็นนะครับ ที่เหลือโหลดไปดีกว่า
- แว่นตาสำรอง และ/หรือน้ำตาเทียมสำหรับผู้ที่ใส่คอนเทคเลนส์
- เงินสด (ห้ามโหลดเด็ดขาด ต้องไว้กับตัวตลอด) และของมีค่าอื่น ๆ
- ปากกา อันนี้ติดตัวไว้เลยก็ดี เพราะอย่างน้อยที่สุดต้องกรอก Landing Card
กระเป๋าเดินทางทุกใบต้องล็อคได้ครับ ไม่ว่าจะเป็นกุญแจหรือรหัส ทั้งนี้นอกจากป้องกันขโมยสมัครเล่นหรือพวกมือไวได้แล้ว (มืออาชีพมันเปิดได้หมดอยู่แล้วครับ) ยังป้องกันใครเอาของแปลกปลอมมายัดใส่กระเป๋าเราครับ ถ้ากระเป๋าแพง หรือว่ามีของมีค่าไปแล้วกังวล เราสามารถซื้อประกันการเดินทางที่รวมประกันกระเป๋าเดินทางและสัมภาระได้ครับ
(02 มิถุนายน 2017) ถ้าเลือกบินกับ Turkish Airlines หรือ Royal Jordanian Airlines ซึ่งมีการเปลี่ยนเครื่องที่ อิสตันบูล และ อัมมัน ทั้งสองเมืองนี้อยู่รายชื่อที่ทางการอังกฤษกำหนดว่า ไม่ให้มีเครื่องคอมพิวเตอร์แลปท๊อปหรือแท็บเล็ตขนาดใหญ่ จะต้องมีการเช็คอินอุปกรณ์เหล่านี้ก่อนขึ้นเครื่อง คือ เช็คอินให้ทางสายการบินขนส่งแยกไปครับ ไม่ลำบากอะไรครับ แต่ว่า ต้องดำเนินการ ลองดูประกาศและขั้นตอนดูได้ครับ
http://www.rj.com/en/uk_flights_electronic_ban.html
อ้างอิง
- http://www.telegraph.co.uk/travel/advice/laptop-ban-on-flights-to-middle-east-advice-help-for-travellers/
- http://www.telegraph.co.uk/news/2017/03/25/tried-take-laptop-flight-happened/
ระเบียบของ ไออาต้า IATA (International Air Transport Asssociation) เรื่องกระเป๋า
ระเบียบเรื่องกระเป๋าขึ้นเครื่อง
หากน้อง ๆ คนไหนสนใจศึกษาต่อประเทศอังกฤษ สอบถามเพิ่มเติมเรื่องทุน สมัครเรียน สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ Hands On – Chiang Mai เนื่องจากเราเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการครับ โดยสามารถมาสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมตัว และสมัครเรียนได้ที่นี่ โดยไม่คิดค่าบริการใด ๆ ทั้งสิ้นครับ
แฮนด์ส ออน เอดูเคชัน คอนซัลแทนต์ – สำนักงานเชียงใหม่
ที่อยู่ติดต่อ
ห้อง 107 ภิญโญพิงค์ แมนชั่น
199/9 ถนนห้วยแก้ว ตำบล สุเทพ อำเภอ เมือง
เชียงใหม่ 50200
ประเทศไทย
อีเมล์ chiangmai@hands-on.co.th
โทร. +66 (0) 89 217 5454
เว็บ http://www.hands-on.co.th
http://www.hands-on.co.th/chiangmai
เฟซบุค http://www.facebook.com/handsonchiangmai
แผนที่