แฮนด์ส ออน เชียงใหม่ – การเตรียมตัวด้านสุขภาพก่อนไปเรียนอังกฤษ ( ตอนที่ 2 – ตอนจบ)

แฮนด์ส ออน เชียงใหม่ – การเตรียมตัวด้านสุขภาพก่อนไปเรียนอังกฤษ ( ตอนที่ 2 – ตอนจบ)

อันนี้เรื่องยากแล้วครับ

วัคซีน

สำหรับเราซึ่งเป็นคนไทย เป็นเรื่องน่าดีใจที่เราได้รับวัคซีนสำคัญเกือบทั้งหมดแล้ว (หรืออาจเป็นเพราะประเทศเราโรคเยอะก็ได้ครับ) โดยมากในคู่มือของมหาวิทยาลัยมักเน้นที่ MMR Vaccine (Measles, Mumps, Rubella) ซึ่งก็คือโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน ซึ่งคนไทยรุ่นใหม่ได้รับหมดแล้ว

อันที่ยังไม่เป็นภาคบังคับ แต่แนะนำให้มีคือ วัคซีนไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี (Hepatitis B and C Vaccine) ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางไวรัสที่มักเกิดเวลาคนไปอยู่ร่วมกัน จริง ๆ โรคนี้ไม่ได้เป็นกันง่าย ๆ แม้จะมีเชื้ออยู่ทั่วไป แต่มักจะเป็นเวลาร่างกายอ่อนแอ พักผ่อนน้อย และเมื่อเป็นแล้วรักษาไม่ยากครับ แต่ใช้เวลารักษานาน บางคนถ้าไม่แน่ใจ เราสามารถให้ทางโรงพยาบาล หรือคลีนิคตรวจเพิ่มไปได้เมื่อไปตรวจเลือดครับ

อันทีทางอังกฤษแนะนำแล้วไม่มีให้ฉีดที่เมืองไทยคือ Meningitis C (MenC) ครับ ดู หน้าเก่า เรื่องนี้ได้ครับ

ยา

ยาประจำตัว คือยาแบบที่เราพกติดตัวเพื่อรักษาอาการปัจจุบัน หรือ ที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นจากการเดินทาง (Personal Medicine) เราสามารถพกไปได้ครับ แต่ควรอยู่ในบรรจุภัณฑ์ (Package) ของยานั้น ๆ เพื่อให้ดูแล้วทราบได้ครับ ถ้ามาในแผงหรือขวดหรือตลับของมันแบบดั้งเดิมได้จะดีที่สุดครับ ยาแบบนับมาจากขวดใหญ่ใส่ซองซิปล็อคจากร้านขายยาหน้าหมู่บ้าน อาจจะมีปัญหาได้ครับ ทั้งนี้เพื่อที่ว่า ถ้าศุลกากรถามเราจะได้สำแดงให้ดูได้อย่างชัดเจน มีหลักฐาน

ส่วนยาที่จะใส่กระเป๋าเดินทางแล้วโหลดเข้าไป ยาที่นำไปก็อาจจะเป็นยาที่เราได้ใช้และเป็นยาที่ไม่ได้ซื้อหาได้ด้วยตัวเอง ยาที่ซื้อได้เอง (Over-The-Counter Drug -OTC) คือ ยาสามัญที่ไม่มีฤทธิ์รุนแรงในการใช้ปรกติ บุคคลทั่วไปสามารถซื้อใช้ได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งจากแพทย์หรือเภสัชกร เช่น พาราเซตตามอล เราควรเอาไปบ้างตามที่ใช้ แต่ไม่ต้องมากเพราะซื้อเอาได้ที่นั่นครับ ยาอย่าง ทิฟฟี่ หรือ ดีคอลเจนที่อังกฤษเรียกว่า โคลด์แทบ (Cold Tab) เป็นยาแบบที่เราซื้อได้เองครับ

พวกวิตามินเสริมต่าง ๆ และอาหารเสริมโดยมากมีขายตามร้านขายยาและร้านเฉพาะทางของมันครับ  แต่จะเอาพวกมะรุมแคปซูล หรือ อาหารเสริมนูทริไลท์  อันนั้นไม่มีนะครับ

ยาที่ไม่ได้ซื้อหาได้ด้วยตัวเอง หรือยาที่ต้องให้แพทย์สั่ง (Prescription Drug) เราอาจต้องนำไปเองเพราะ ร้านที่อังกฤษจะไม่ขายให้เราถ้าไม่มีใบสั่งยา เช่น ยาปฏิชีวนะ พวกนี้เป็นอันตรายครับ แม้แต่ในการใช้งานปรกติดังนั้นจึงมีความเสี่ยงในการใช้

ยาไม่ว่าแบบไหนก็ควรอยู่ในบรรจุภัณฑ์ของมันเองเช่นกัน ปริมาณก็ควรจะเป็นไปเพื่อใช้ส่วนตัว ไม่ดูเหมือนเอาไปขาย เช่น ยาปฏิชีวนะเพื่อแก้อาการไข้หวัด ปรกติกินวันละ 3 – 4 มื้อ โดสหนึ่งไม่เกิน 5 วัน 1 โดสก็คือ 20 เม็ด ถ้านำไปสัก 100 เม็ดน่าจะเป็นปริมาณที่เหมาะสมครับ

ถ้าจำเป็นต้องนำเข้าไปในปริมาณมากอาจ 4 – 500 เม็ด เช่น ยานี้อาจต้องกินทุกวันวันละ 1 – 2 เม็ด แล้วเราไปเรียนพรีฯ 15 สัปดาห์บวกกับปริญญาโท 2 ปี กรณีอาจต้องการจดหมายหรือใบสั่งยาพร้อมกับคำอธิบายจากแพทย์เป็นภาษาอังกฤษแนบไปด้วย

ถ้ามีปัญหาเรื่องนำเข้ายากับศุลกากร อย่างน้อยคือ ยึดของ และ ตักเตือน (เสียเงินฟรี) อย่างกลาง คือ ยึดของ และปรับ อยากมาก คือ ถูกดำเนินคดีครับ

ท้ายสุด อยากให้ทุกคน ทั้งที่อยู่ที่นั่นแล้ว และกำลังจะไปดูแลตัวเองให้ดีครับ อยู่อังกฤษถ้าป่วยแล้ว ยากลำบากทีเดียว ไม่ใช่ว่าหมอหรือโรงพยาบาลเขาไม่ดีนะครับ (อาจมีคุยกันไม่รู้เรื่องบ้าง) แต่ว่า เราอยู่ที่นั่น ไม่มีใครดูแลเรา เช็ดตัว หุงหาอาหาร เราต้องทำเองทั้งหมด แย่ที่สุดคือ เวลาคนที่รักและเป็นห่วงเราอย่างคุณพ่อคุณแม่ทราบ ท่านก็พลอยกังวลเป็นห่วงเราครับ

School of Nursing and Midwifery, University of East Anglia, Norwich

04760013

04760017

Guy Hospital,  King’s College, University of London

04700034